World's Delight

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา @ บางแสน-ชลบุรี

The Institute of Marine Science, Burapha University


– ระลึกวัยเด็ก กับสัตว์ทะเลหลากหลาย ส่งต่อความรู้ ให้รุ่นหลาน ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา –


ภพ เชื่อว่าในความทรงจำวัยเด็กของหลายๆ คนนั้น จะมีคุณพ่อคุณแม่ ญาติๆ พาเราไปท่องเที่ยวในแหลงเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ซาฟารีเวิร์ลบ้าง สวนเสือบ้าง สวนนกบ้าง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ แหล่งธรรมชาติต่างๆ โดยครั้งนี้ภพได้มีโอกาสมาเที่ยวทั้งครอบครัว และพาหลานๆ ออกจากบ้านมาหาความรู้ และนำตัวเองมาระลึกความหลังกับแหล่งเรียนรู้ที่นึง โดยที่แห่งนี้มีแลนด์มาร์คสำคัญคือ “น้ำพุปลาโลมา” ขนาดใหญ่ที่แสดงโชว์กระโดดไปมาตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้า พูดมาถึงตรงนี้แล้วเพื่อนๆ คน คงร้องอ๋อกันแล้วล่ะ ใช่ครับ ที่นั้นก็คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี


สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่ตั้ง : 169 ถนน ลงหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี ชลบุรี 20131

MAP ——–> https://goo.gl/maps/pRQbkfspR8SbRoSm7

📞สอบถามเพิ่มเติม 038 391 671

📩 https://www.facebook.com/bimsthailand/,

https://sites.google.com/go.buu.ac.th/bims/


สารบัญบทความ


ทำความรู้จักกับ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

วันเดินทาง/ใช้บริการ : วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับการพัฒนามาจาก “พิพิธภัณฑ์สัตว์ และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 โดยคณะอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน (วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสนเดิม) และนิสิตอีกจำนวนหนึ่งโดย ดร.บุญถิ่น อัตถากร อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครูและอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว

พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 และในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม 

พิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนไม่สามารถขยายออกไปได้อีก ทั้งนี้เนื่องจากตัวอาคารมีขนาดจำกัดและไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการนี้โดยตรง เพื่อเป็นการขยายกิจการของพิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมทางมหาวิทยาลัยโดยการนำของ ดร.ทวี หอมชงและคณะ ได้จัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นมูลค่า 230 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 ธันวาคม 2524 ณ บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ในเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2525 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีพิธีมอบให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2526 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2527 จากนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลได้จัดทำโครงการเพื่อยกฐานะเป็นสถาบัน และได้รับอนุมัติให้เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2528


ราคา และโปรโมชั่น (Price and Promotion)

ราคาปกติ(รายบุคคล)

คนไทย

หมายเหตุ: หากแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษาลด 50 % และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เข้าใช้บริการฟรี

Foreigner

การติดต่อเข้าชม

สอบถามรายละเอียด การเข้าชมไดที่งานประชาสัมพันธ์ โทร (038) 391671-4 ต่อ 184,126 ได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.  หรือ E-mail : tanyong@buu.ac.th

หมายเหตุ: การติดต่อเข้าชมล่วงหน้า เข้าชมเป็นหมู่คณะ อื่นๆ ติดต่อล่วงหน้า 5 -7 วัน


พาไปเที่ยว (Let’s Travel)

รายละเอียดการเข้าชม

บัตรเข้าชม 1 ใบ สามารถเข้าชมได้ 2 ส่วน คือ
  • → สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม
  • → พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล

คำแนะนำ

  1. การเข้าชมโดยทั่วไป ทั้ง 2 ส่วน สำหรับหมู่คณะจะใช้เวลาในการเข้าชม ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
  2. การเข้าชมของครอบครัวทั่วๆไปขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละครอบครัวหากมีเด็ก เล็ก (อายุ 2 – 10 ขวบ) จะใช้เวลา+ความสนใจของเด็กประมาณ 2 ชั่วโมง

ส่วนของสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม

เป็นส่วนที่จัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต และความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตน่านน้ำของไทย  โดยทรัพยากรที่ใช้ในการให้ความรู้คือสิ่งมีชีวิตในทะเลชนิดต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ที่ยังมีชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดที่มีระบบยังชีพสำหรับให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ เหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในแต่ละตู้มีการจัดสภาพให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด แต่ละตู้จะมีป้ายบ่งบอกชนิดสัตว์ทะเลที่อยู่ในตู้ทั้งชื่อสามัญและชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยหัวข้อต่างๆ ที่ให้ความรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. ชีวิตชายฝั่งทะเล หรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง เช่น กุ้ง ลูกปลาบางชนิด หอยนางรม ปูเสฉวน เม่นทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวทะเล ฯลฯ
  2. สีสันแห่งท้องทะเล หรือปลาในแนวปะการัง เช่น ปลาสลิด ปลาการ์ตูน ปลาเขียวพระอินทร์ ปลาผีเสื้อ และปลาโนรี เป็นต้น  
  3. ลานเรียนรู้ชาวเล หรือการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต และพึ่งพาอาศัยกัน ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการจัดนิทรรศการ หมุนเวียน แสดงสิ่งมีชีวิตสองชนิดอาศัยอยู่รวมกัน หรืออยู่ ปนกันโดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ซึ่ง กันและกัน
  4. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังน้ำเค็มเป็นสัตว์โครงร่างแข็งที่ไม่ใช่กระดูกอยู่ภายในลำตัว และ บางชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มอยู่ภายนอก เช่น หอย หมึก กุ้ง หนอนทะเล และ ฟองน้ำ
  5. ครัวของโลก หรือปลาเศรษฐกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ
    1. พวกที่นำมาเป็นอาหาร เช่น ปลากะรัง หรือที่เรียกกันว่า “ปลาเก๋า” นอกจากนี้ก็มีปลากะพง ชนิดต่าง ๆ ปลาอีคุด ปลาสีขน ปลาสร้อยนกเขา และ ปลาหูช้าง เป็นต้น
    2. พวกที่นำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ได้แก่ ปลาสลิดทะเล ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลาข้าวเม่าน้ำลึก
  6. แปลก… สวยซ่อนพิษ หรือปลารูปร่างแปลก และปลามีพิษ เช่น ปลากระเบน ปลาลิ้นหมา ปลาวัว ปลาไหลทะเล ปลาปักเป้า ปลาสิงโต ปลาเหาฉลาม ปลาฉลามกบหรือฉลามแมว ปลาอุบ และ ปลากะรังหัวโขน เป็นต้น
  7. ยักษ์ใหญ่ใต้สมุทร หรือปลาที่อาศัยในมหาสมุทร ปลาที่อาศัยอยู่มากในช่วงความลึกไม่เกิน 1,000 เมตร จากผิวน้ำ ได้แก่ ปลาที่เรารู้จักดี เช่น ปลาโอ ปลากะพงขาว ปลาหมอทะเล ปลาอินทรีย์ ปลากระเบน ปลาหมอทะเล ปลาฉลาม เป็นต้น ปลาอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ลึกลงไปเกือบถึงพื้นสมุทร ซึ่งลึกประมาณ 2,000 เมตร เช่น ปลาคอด เป็นต้น

การแสดงโชว์พิเศษ

ในส่วนของสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม จะมีการแสดงโชว์การสาธิตการดำน้ำให้อาหารปลาที่ตู้ปลาตู้ใหญ่ที่มีความจุประมาณ 1,000 ตัน ในสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ตื่นตาตื่นใจกับความน่ารักของปลาหมอทะเลในขณะที่ทานอาหารจากมือนักประดาน้ำ ที่ต้องป้อนอาหารให้ถึงปากปลาหมอทะเลที่มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม

  • วันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) เวลา  14.30 น.
  • วันหยุดราชการ (เสาร์-อาทิตย์) ,วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.30 น. และ เวลา 14.30 น.

*แต่ปัจจุบันงดการแสดงดำน้ำให้อาหารปลาชั่วคราวเพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19

ส่วนของพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล

เมื่อเราออกจากส่วนของสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มมาแล้ว ที่ชั้น 2 ของอาคารจะเป็นส่วนของพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เกี่ยวกับพระราชกรณีกิจทางด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวิทยาศาสตร์การประมง

ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวของทะเล ระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล รวมทั้งความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ ดังมีรายละเอียดดังนี้

  1. นิทรรศการเรื่องราวของอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตในทะเล  โดยให้ความรู้ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่อาศัยอยู่ในทะเล คือ แพลงก์ตอนซึ่งมีบทบาทสำคัญของห่วงโซ่อาหารในทะเล สาหร่าย และหญ้าทะเล ฟองน้ำ สัตว์ที่มีโพรงลำตัว เช่น ปะการัง ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน เป็นต้น สัตว์จำพวกหนอนทะเล เช่น หนอนตัวแบนหนอนปล้อง หนอนริบบิ้น เป็นต้น สัตว์จำพวกหอย เช่น หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หมึก และหอยงวงช้าง เป็นต้น สัตว์ที่มีข้อปล้องในทะเล เช่น ปู กุ้ง กั้ง และแมงดาทะเล เป็นต้น สัตว์จำพวกคอร์เดทในทะเล เช่น เพรียงหัวหอม แอมฟิออกซัส และสัตว์ทะเลที่มีกระดูกสันหลัง ชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาทะเล โลมา พะยูน เต่าทะเล และจระเข้น้ำเค็ม รวมทั้งเรื่องราวของทะเล และสิ่งมีชีวิตในทะเลยุคดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
  2. นิทรรศการเรื่องราวของทะเล และระบบนิเวศในทะเล ในส่วนนี้จะกล่าวถึงการแบ่งเขตของทะเล และระบบนิเวศต่างๆในทะเล รวมทั้งพืช และสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแต่ละระบบนิเวศ โดยเริ่มตั้งแต่ ระบบนิเวศของป่าชายเลน ระบบนิเวศหาดหิน ระบบนิเวศหาดทราย และหาดโคลน ระบบนิเวศแนวปะการัง เป็นต้น
  3.  นิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์  เป็นส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ เช่น เป็นแหล่งทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมงทะเล เช่น โป๊ะ และเรือประมงทะเลชนิดต่างๆ เป็นเส้นทางค้าขาย และเดินทางติดต่อกันของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคนานาประการจากคลื่น ลม และพายุ จนทำให้เรืออัปปางเกิดเป็นเรื่องราวของการขุดค้น และศึกษาโบราณคดีใต้น้ำเป็นต้น
  4. ห้องพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย และวิวัฒนาการของหอย ในห้องนี้จะจัดแสดงเกี่ยวกับเปลือกหอยที่พบในทะเลกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ลิ่นทะเล หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หอยงวงช้าง และหอยงาช้าง เป็นต้น รวมทั้งนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับหอยแต่ละกลุ่ม วิวัฒนาการของหอยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการแบ่งกลุ่มของหอยที่มีอยู่ในโลก

จะเห็นได้ว่าได้ความรู้ ให้ความสนุก กับกับเด็กๆ ติดตัวกลับไปไม่มากก็น้อยเลยครับ สุดท้ายก็ยังได้หวนรำลึกความหลังในวันวานไปแบบฟินๆ อีกด้วย (รู้สึกแก่จัง ฮา) แต่การกลับมาครั้งนี้ก็ได้อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปจากวัยเด็กตอนนั้นพอควรเลย เพราะงั้นใครอยากกลับมาหวนระลึกความหลังแบบ ภพ ก็ตามรอยมากันได้เลยครับผม


⏱ เวลาในการให้บริการ (Time)

เปิดทำการ ทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น.

Open daily from 09.00 – 16.00 hrs.

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/bimsthailand/

for More Information : https://www.facebook.com/bimsthailand/


ขอบคุณที่ติดตามครับผม

Thank you for enjoying my blog!

World’s Delight เพราะความสุขชื่อมโยงคน

Because People Can Be Connected By Good World.

———————————————————-

ทุกคนสามารถติดตาม/Please Follow

World’s Delight ช่องทางอื่นได้ที่

World’s Delight

Facebook

Readme

Youtube

Instragram

Twitter

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้นนะครับ ซึ่งคนอื่นๆอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปตามวันเวลาที่ไปใช้บริการ

#ภพความสุข #Worldsdelight #WD #WDL
#Pobslife #รีวิว #ไลฟ์สไตล์ #lifestyle
#BangsaenAquarium #บางแสน
#bimsthailand #สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล
#planforkids #บางแสนอควาเรียม

Exit mobile version